วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โครงงานวิทย์

โครงงานวิทยาศาสตร์ คือ งานวิจัยเล็กๆสำหรับนักเรียน เป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบโดยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ประเภทของโครงงานวิทยาศาสตร์
1. โครงงานประเภทสำรวจและรวบรวมข้อมูล โครงงานประเภทนี้ผู้ทำโครงงานเพียงต้องการสำรวจและรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนกหมวดหมู่ และนำเสนอในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เห็นลักษณะหรือความสัมพันธ์ในเรื่องที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน
2. โครงงานประเภททดลอง การทำโครงงานประเภทนี้ ต้องมีการจัดการกับตัวแปรที่มีผลต่อการทดลอง ซึ่งตัวแปรมี 4 ประเภท คือ ประเภทของตัวแปร
1. ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ หมายถึง เหตุของการทดลองนั้น
2. ตัวแปรตาม ซึ่งจะเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวแปรต้น
3. ตัวแปรควบคุม หมายถึง สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือนๆกัน มิฉะนั้นจะมีผลทำให้ตัวแปรตามเปลี่ยนไป
4. ตัวแปรแทรกซ้อน แท้จริงคือตัวแปรควบคุมนั้นเอง แต่บางครั้งเราจะควบคุมไม่ได้ซึ่งจะมีผลแทรกซ้อน ทำให้ผลการทดลองผิดไป แต่แก้ไขได้โดยการตัดข้อมูลที่ผิดพลาดทิ้งไป
3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ โครงงานประเภทนี้เป็นการนำเอาความรู้ที่มีอยู่มาประดิษฐ์หรือสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา 4. โครงงานประเภททฤษฎี โครงงานนี้เป็นการใช้จินตนาการของตนเองมาอธิบายหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอธิบายในรูปของ สูตร หรือ สมการ หรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถอธิบายได้โดยหลักการเดิมๆ
ขั้นตอนการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ขั้นตอนที่1 การได้มาของปัญหาที่จะทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปเรื่องที่จะนำมาเป็นโครงงานนั้นมาจากปัญหา คำถาม หรือความสนใจในเรื่องต่างๆ จากการสังเกตสิ่งรอบตัว ข้อเสนอแนะเวลาจะหาเรื่องที่จะทำโครงงานลอง เขียนคำถามที่อยากรู้คำตอบลงในกระดาษ ประมาณ20 ข้อ แล้วจากนั้นจึงเลือกว่าคำถามใดที่น่าสนใจและน่าจะนำมาศึกษาเพื่อเป็นโครงงานต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและแหล่งข้อมูล ขั้นตอนนี้ เพื่อช่วยให้ได้แนวคิดที่ใช้กำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะศึกษาได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมทั้งได้ความรู้เพิ่มเติม ในเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าดังกล่าวซึ่งเมื่อศึกษาแล้วควรบันทึกสรุปสาระสำคัญไว้ด้วย แหล่งข้อมูล เช่น การปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ การศึกษาผลงานของโครงงานวิทยาศาสตร์ การแสดงนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาเทคนิคและวิธีการทดลอง ผลการศึกษาทดลอง ฯลฯ

ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำเค้าโครงของโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยเค้าโครง โครงงานวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย
1) ชื่อเรื่อง
2) ผู้ทำโครงงานและที่ปรึกษาโครงงาน
3) ที่มาและปัญหาหรือเหตุจูงใจในการทำงาน
4)วัตถุประสงค์
5)สมมติฐานและการกำหนดตัวแปร กรณีเป็นโครงงานทดลองและประดิษฐ์
6)วิธีการดำเนินงาน ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ แนวการศึกษาค้นคว้าและทดลอง ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับการออกแบบการทดลอง การสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรืออื่นๆ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล
7)แผนการปฏิบัติงาน โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษากี่วันและศึกษาช่วงใด 8) ผลที่คาดว่าจะได้รับ 10) เอกสารอ้างอิง 11) เสนอโครงงานต่อที่ปรึกษา
ขั้นตอนที่ 4 การลงมือทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ตามแผนที่วางไว้ ดังนี้
1) เตรียมวัสดุอุปกรณ์สารเคมี สถานที่ให้พร้อมก่อนการลงมือรวมทั้งเตรียมสมุดบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทำโครงการ เช่น ผลการศึกษา ปัญหา แนวทางแก้ไข รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ
2) การลงมือปฏิบัติ ตามแผนที่วางไว้ในเค้าโครง โดยจัดระบบการทำงานทำส่วนที่สำคัญๆ ให้เสร็จก่อน ปฏิบัติการทดลองด้วยความละเอียดรอบคอบ บันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและครบถ้วน ทำการทดลองซ้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
3) วิเคราะห์และสรุปผล การวิเคราะห์ เป็นการนำข้อมูลมาจัดกระทำเพื่อนำเสนออย่างเป็นระบบและช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย เช่น ค่าเฉลี่ย หาค่าร้อยละ เขียนกราฟแสดงความสัมพันธ์ แล้วอธิบายหรือแปลความหมาย ของข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จากนั้นจึงสรุป การสรุปการวิเคราะห์ด้วยข้อความสั้นๆ กะทัดรัดและครอบคลุม ผู้อ่านเข้าใจถึงสิ่งที่ค้นพบจากการทำโครงงาน
4) การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ การอภิปรายผลเป็นการพิจารณาข้อมูลที่ได้วิเคราะห์แล้ว พร้อมกับนำไปหาความสัมพันธ์ กับ หลักการ ทฤษฎี หรือผลงานที่ผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว ทั้งนี้ยังรวมถึงการนำหลักการ ทฤษฎีหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้ประกอบการอภิปรายผลที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งหลังจากทำโครงงานอาจพบข้อสังเกต ประเด็นสำคัญหรือปัญหา ซึ่งสามารถเขียนเป็นข้อเสนอแนะ ให้เห็นถึงปัญหา ที่ควรศึกษาและ/หรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้

ขั้นตอนที่ 5 การเขียนรายงาน ประกอบด้วยส่วนสำคัญดังต่อไปนี้
1) ส่วนนำ ประกอบด้วย ชื่อโครงงาน ชื่อผู้ทำโครงงาน ชื่อที่ปรึกษา คำขอบคุณ(กิตติกรรมประกาศ) และ บทคัดย่อ โดยบทคัดย่อความยาวประมาณ 300-350 คำ
2) บทนำ ประกอบด้วย ที่มาและความสำคัญของโครงงาน , จุดมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า , สมมติฐานของการศึกษาค้นคว้า (ถ้ามี) , ตัวแปรต่างๆ(ถ้ามี) , นิยามศัพท์หรือข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี)
3) เอกสารอ้างอิง เป็นส่วนที่แสดงถึงการศึกษาหาข้อมูลหรือหลักการ ทฤษฎี หรือวิธีการที่จะนำมาใช้ในการออกแบบการทดลองต่อไป
4) วิธีดำเนินการ ได้แก่ ระบบวัสดุอุปกรณ์สารเคมีต่างๆ วัสดุทางชีววิทยา (ถ้ามี) ที่ต้องใช้ในการทำงาน อีกส่วนคือ การอธิบายขั้นตอนการทำงานโดยละเอียด
5) ผลการศึกษา นำเสนอข้อมูล หรือผลการทดลองต่างๆ ที่สังเกตรวบรวมได้ รวมทั้งเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ด้วย
6) สรุปและข้อเสนอแนะ อธิบายผลสรุป ที่ได้จากการทำงาน ถ้ามีการตั้งสมมติฐานให้ระบุด้วยว่าข้อมูลที่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านสมมติฐาน ที่ตั้งไว้ หรือยังสรุปไม่ได้ นอกจากนั้นยังควรกล่าวถึงการนำผลการทดลองไปใช้ประโยชน์ อุปสรรคของการทำโครงงาน หรือข้อสังเกตที่สำคัญหรือข้อผิดพลาด บางประการที่เกิดขึ้นจากการทำโครงงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะ เพื่อการปรับปรุงแก้ไขหากจะมีผู้ศึกษาค้นคว้าในทำนองนี้ต่อไป
7) บรรณานุกรม
ขั้นตอนที่ 6 การเสนอและการแสดงผลงานของโครงงานวิทยาศาสตร์ ขนาดของแผงโครงงาน
ที่มา:
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ.โครงงานชนะการประกวด.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพมหานคร:สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว) จำกัด,2547.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.โครงงานวิทยาศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544